วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

แนวคิดเกี่ยวกับวิวัฒนาการของลามาร์ก

          ชอง ลามาร์ก (Jean Lamarck, พ.ศ. 2287-2372) นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศส เป็นคนแรกๆที่ได้นำเสนอแนวคิดปฏิวัติเรื่องวิวัฒนาการจากการศึกษาเปรียบ เทียบลักษณะของสิ่งมีชีวิตในยุคนั้นกับหลักฐานซากดึกดำบรรพ์ในพิพิธภัณฑ์ ลามาร์กได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับวิวัฒนาการที่สำคัญในสองประเด็นอันเป็นที่ ถกเถียงกันอย่างแพร่หลาย

แนวคิดของลามาร์ก ประเด็นที่ 1
          กล่าวว่า...สิ่งมีชีวิตมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปมีความซับซ้อนมากขึ้นและสิ่งมีชีวิตมีความ พยายามที่จะอยู่รอดในธรรมชาติซึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านสรีระไปในทิศ ทางนั้น หากอวัยวะใดที่มีการใช้งานมากในการดำรงชีวิตจะมีขนาดใหญ่ ส่วนอวัยวะใดที่ไม่ใช้จะค่อยๆลดขนาดและอ่อนแอลง และเสื่อมไปในที่สุดแนวคิดดังกล่าวนี้ เรียกว่า กฎการใช้และไม่ใช้ (Law of use and disuse)  
แนวคิดของลามาร์ก ประเด็นที่ 2
          มีความเกี่ยวเนื่องต่อจากประเด็นแรกที่ว่า การเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นจากการใช้และไม่ใช้นั้นจะคงอยู่ได้ และสิ่งมีชีวิตสามารถถ่ายทอดลักษณะที่เกิดใหม่นี้ไปสู่รุ่นลูกได้แนวคิดดังกล่าว เรียกว่า กฎแห่งการถ่ายทอดลักษณะที่ได้มาขณะมีชีวิตอยู่ (Law of inheritance of acquired characteristic)  


 
 ลามาร์กอธิบายแนวคิดของตนโดยยกตัวอย่างยีราฟ ซึ่งปัจจุบันมีคอและขาที่ยาวขึ้น

          ลามาร์กได้ใช้แนวคิดทั้งสองมาอธิบายการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของสิ่งมีชีวิต เช่น ลักษณะของยีราฟซึ่งมีคอยาว ลามาร์กอธิบายว่าจากหลักฐานซากดึกดำบรรพ์ ยีราฟในอดีตจะมีคอสั้นแต่เนื่องจากอาหารขาดแคลนไม่พอกิน จึงต้องกินใบไม้จากต้นไม้สูงแทนหญ้า และเนื่องจากยืดคออย่างเดียวนั้นยังไม่พอจึงต้องมีการเขย่งขาเพิ่มด้วย จึงทำให้ยีราฟมีคอและขาที่ยาวขึ้น ลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปนี้สามารถถ่ายทอดสู่รุ่นลูกหลานยีราฟรุ่นต่อมา
          ในสัตว์พวกงูที่เราจะไม่เห็นขาของมัน แต่หลักฐานจากการศึกษาโครงกระดูกพบว่ายังมีส่วนของกระดูกที่สันนิษฐานว่าเป็นขาหลงเหลืออยู่ ซึ่งลามาร์กอธิบายว่า งูจะอาศัยอยู่ในพงหญ้ารกจึงใช้การเลื้อยพาให้ตัวเคลื่อนไป จึงไม่ต้องใช้ขาและการเลื้อยทำให้ลำตัวยาวขึ้น เมื่อขาไม่ได้ใช้จึงค่อยๆลดเล็กลงจนหายไป ลักษณะนี้ถ่ายทอดไปยังรุ่นต่อๆไปได้ เราจึงเห็นว่างูรุ่นต่อมานั้นไม่มีขา 
          จากแนวคิดของลามาร์ก ท่านเห็นด้วยหรือไม่ เพราะอะไร และจะมีวิธีการอย่างไรในการทดลองเพื่อพิสูจน์แนวคิดของลามาร์ก คำถามเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากลามาร์กได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับวิวัฒนาการของ สิ่งมีชีวิตออกมา นักวิทยาศาสตร์สมัยนั้นดูจะไม่ค่อยยอมรับแนวคิดของลามาร์กเพราะไม่สามารถ พิสูจน์ได้ในทุกกรณี เช่นในการทดลองของออกัส  ไวส์มาน (August Weisman, พ.ศ. 2377-2457) ได้ทดลองตัดหางหนู 20 รุ่นให้สั้นลง แต่ปรากฏว่าหนูรุ่นที่ 21 ก็ยังคงมีหาง ไวส์มานจึงได้เสนอแนวคิดค้านลามาร์กว่า ลักษณะที่ถ่ายทอดไปสู่รุ่นลูกหลานได้นั้นต้องเกิดจากเซลล์สืบพันธุ์ไม่ใช่ เซลล์ร่างกาย หรือหากทฤษฎีของลามาร์กถูกต้อง ทำไมจึงยังมีสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่ไม่ซับซ้อนเจริญอยู่ในสิ่งแวดล้อม

          อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีบางสถานการณ์ที่ แนวคิดของลามาร์กดูเหมือนจะถูกต้อง เช่น การเกิดมะเร็งบางชนิดที่สามารถถ่ายทอดสู่ลูกหลานได้ โดยเฉพาะการค้นพบการถ่ายทอดลักษณะไปยังลูกหลานโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงของสาร พันธุกรรมซึ่งพบเป็นครั้งแรกในข้าวโพดและเรียกว่า epigenetics จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้าไปมากในปัจจุบัน ทำให้แนวคิดของลามาร์กที่แต่ก่อนดูเหมือนจะหมดความหมายทางวิชาการกลับมาคง อยู่และท้าทายต่อการพิสูจน์ต่อไป



 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น